เงินบาทแข็งค่า จับตาประชุม กนง.กลางสัปดาห์นี้

เศรษฐกิจ (ในประเทศ - ต่างประเทศ)

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/2) ที่ระดับ 32.92/94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (4/2) ที่ระดับ 32.93/95 บาท ในช่วงคืนวันศุกร์ (4/2) ที่ระดับ 32.93/95 บาท ในช่วงคืนวันศุกร์ (4/2) ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยหลังกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผย ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 467,000 ตำแหน่งในเดือนมกราคม สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 150,000 ตำแหน่ง

ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.0% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.9% ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.7% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.5% โดยตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตามนักลงทุนไม่ได้ให้ความสำคัญกับตัวเลขภาคแรงงานในเดือนที่ผ่านมามากนักเนื่องจากค่อนข้างเป็นที่แน่นอนว่าธนาคารกลางสหรัฐจะทำการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้อย่างแน่นอน

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทในช่วงเช้าวันนี้ (7/2) มีเคลื่อนไหวในเชิงแข็งค่า ตอบรับข่าวจากกระทรวงสาธารณสุขไทยที่ออกมาระบุว่าถึงแม้จะพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 5-6 หมื่นรายต่อวัน ก็จะไม่มีการล็อกดาวน์เกิดขึ้น ส่งผลให้มุมมองต่อค่าเงินบาทเป็นบวก นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์เผยอัตราเงินเฟ้อเดือน ม.ค. 65 เพิ่มขึ้น 3.23% เป็นผลจากปัจจัยราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นสำคัญ พร้อมชี้ว่าไม่เป็นสัญญาณที่ต้องกังวล เพราะเป็นเงินเฟ้อแบบอ่อน ๆ ไม่เป็นเหตุผลที่ทำให้ภาครัฐจะต้องใช้มาตรการเพื่อสกัดเงินเฟ้อในขณะนี้แต่อย่างใด

ซึ่งอัตราเงินเฟ้อในระดับ 1-3% ถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจ ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุม กนง.ในวันพุธนี้ (9/2) รวมถึงทิศทางเงินทุนของต่างชาติ และสถานการณ์โควิด-19 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.85-33.07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.04/33.06 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (7/2) ที่ระดับ 1.1453/55 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (4/2) ที่ระดับ 1.1462/63 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรอ่อนค่าเพียงเล็กน้อยหลังการประกาศตัวเลขภาคแรงงานของสหรัฐ โดยค่าเงินยูโรยังมีแรงหนุนหลังจากนายคลาส น็อต สมาชิกคณะกรรมการบริหารธนาคารกลางยุโรป (ECB) คาดการณ์ว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของ ECB จะเกิดขึ้นในเดือน ต.ค.ปีนี้ และการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 2 จะเกิดขึ้นฤดูใบไม้ผลิของปี 2566

ทั้งนี้สอดคล้องกับที่ นางคริสติน ลาการ์ด ประธาน ECB ได้ส่งสัญญาณในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการแถลงข่าวหลังการประชุมกำหนดนโยบายการเงินของ ECB เมื่อวันที่ 3 ก.พ. โดยนางลาการ์ดกล่าวยอมรับว่าเงินเฟ้อได้พุ่งขึ้นมากกว่าที่คาดไว้ และความเสี่ยงของแนวโน้มเงินเฟ้อยังคงอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยเฉพาะในช่วงระยะเวลาอันใกล้นี้ ทั้งนี้สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตต) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของยูโรโซนพุ่งขึ้นสู่ระดับ 5.1% ในเดือน ม.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ที่ยูโรสแตตเริ่มรวบรวมข้อมูลดังกล่าว โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1420-1.1450 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1420/22 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/2) ที่ระดับ 115.24/26 เยน/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (4/2) ที่ระดับ 114.95/97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้ออกมาระบุว่า BOJ ยังคงต้องดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเป็นพิเศษต่อไป เนื่องจากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ อย่างชัดเจน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 115.00-115.37 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 115.03/05 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเยอรมนีเดือน ธ.ค. (7/2), มติอัตราดอกเบี้ยของ กนง. (9/2), ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ม.ค. ของสหรัฐ (10/2), ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของสหรัฐ (10/2), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐ (10/2), ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐจาก UoM (11/2)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.60/+0.80 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.50/-1.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance